โปลิโอ - ไวรัสโปลิโอ


โรคโปลิโอ หรือ Poliomyelitis หรือ Polio หรือ Infantile paralysis เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ ซึ่งในกลุ่มของผู้ที่มีอาการนั้นส่วนใหญ่จะมีอาการเพียงเล็กน้อยและไม่จำเพาะ มีเพียงส่วนน้อยที่จะมีอาการของกล้ามเนื้ออ่อนแรงและเมื่อผ่านไปหลายๆปีหลังการรักษา ผู้ป่วยที่เคยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงนี้อาจเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงซ้ำขึ้นอีกครั้ง รวมทั้งเกิดกล้ามเนื้อฝ่อลีบและเกิดความพิการของข้อได้ โรคนี้ไม่มียารัก ษา แต่มีวัคซีนสำหรับป้องกันไม่ให้เป็นโรคได้

วัคซีนสำหรับป้องกันโรคโปลิโอถูกผลิตขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2498 โดย Dr. Jonas Salk แพทย์ชาวสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดฉีดแต่มีประสิทธิภาพไม่ดีนัก ในปี พ.ศ. 2504 ได้มีการค้นพบวัคซีนชนิดรับประทานซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่า จึงได้ใช้กันอย่างแพร่หลายทำให้อุบัติการณ์การเกิดโรคโปลิโอลดลงอย่างมาก โดยในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี พศ. 2522 ก็ไม่พบรายงานผู้ป่วยใหม่อีก จนกระทั่งในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2540 เล็กน้อยได้พบมีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้น 8 - 10 รายต่อปี ซึ่งคาดว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอที่อยู่ในวัคซีนชนิดรับประ ทาน ตั้งแต่นั้นมาทางประเทศสหรัฐอเมริกาจึงได้เปลี่ยนมาใช้วัคซีนชนิดฉีดที่ได้พัฒนาขึ้นมาใหม่ให้มีประสิทธิภาพกว่าวัคซีนชนิดฉีดรุ่นดั้งเดิม และนำมาทดแทนที่วัคซีนชนิดรับประทาน ดัง นั้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ก็ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในสหรัฐอเมริกาอีกเลย

ในปี พ.ศ. 2531 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ทุกประเทศร่วมมือกวาดล้างโรคโปลิ โอ ทำให้อัตราการป่วยทั่วโลกลดลงไปมากถึง 99% โดยลดลงจาก 350,000 ราย (จาก 125 ประเทศทั่วโลก) ในปี พ.ศ. 2531 เหลือเพียง 820 รายใน 11 ประเทศในปี พศ. 2550 ซึ่งประ เทศที่ยังพบโรคมากอยู่คือ อินเดีย (400 กว่าราย) ปากีสถาน ไนจีเรีย และอัฟกานิสถาน

สำหรับประเทศไทย องค์การอนามัยโลก (WHO: World Health Organization) ได้ประ กาศรับรองเมิ่อ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557 ให้เป็นประเทศที่ปลอดโรคโปลิโอแล้วโดยไทยเป็น 1 ใน 11 ประเทศในภูมิภาคเอเซียที่ได้รับประกาศนียบัตรรับรองครั้งนี้ ซึ่งอีก 10 ประเทศได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน เกาหลีเหนือ อินเดีย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ เมียนมาร์ เนปาล ศรีลังกา และติมอร์-เลสเต ทั้งนี้ประเทศไทยพบผู้ป่วยโปลิโอรายสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2540 ที่จังหวัดเลย แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขไทยก็ยังคงทุกมาตรการในการควบคุมโรคนี้ให้ได้อย่างต่อ เนื่องตลอดไป

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคโปลิโอ?

โปลิโอ

โรคโปลิโอเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อ Poliovirus ซึ่งมีอยู่ 3 ชนิดย่อย (3 serotypes) ไวรัสโปลิโอเป็นไวรัสที่อยู่ในกลุ่ม Enterovirus ซึ่งเป็นไวรัสที่สามารถแบ่งตัวเจริญเติบโตอยู่ในลำไส้และก่อโรคได้หลายโรค ตัวอย่างของไวรัสอื่นๆในกลุ่มนี้เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคมือ-เท้า-ปาก และไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

เนื่องจากไวรัสนี้เจริญเติบโตอยู่ในลำไส้ของผู้ป่วย เชื้อจึงถูกขับออกจากร่างกายมากับอุจจาระและแพร่สู่ผู้อื่นผ่านการกินอาหารและดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระของผู้ป่วยนั่นเอง ซึ่งเกิดจากการขับถ่ายที่ไม่ถูกสุขลักษณะและการไม่ล้างมือก่อนการหยิบจับอาหาร โรคนี้จึงมักพบในประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาที่ขาดการดูแลเรื่องสุขอนามัยที่ดี

การติดเชื้อโปลิโอมักพบในวัยเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสติดเชื้อเท่าๆกัน

โรคโปลิโอมีกลไกการเกิดโรคอย่างไร?

เมื่อได้รับเชื้อโปลิโอจากการดื่มน้ำหรือกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป เชื้อจะเดินทาง เข้าสู่ต่อมทอนซิล (ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในลำคอบริเวณโคนลิ้นมีทั้งด้านซ้ายและด้านขวา) และแบ่งตัวเจริญเติบโต เชื้อที่เหลือจะเดินทางผ่านกระเพาะอาหารลำไส้เล็ก และไปอาศัยอยู่ในลำ ไส้ใหญ่โดยไม่ได้ทำให้เยื่อเมือกบุกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ แต่เชื้อจะเดินทางลงสู่ชั้นใต้เยื่อเมือกบุลำไส้ที่มีเซลล์เม็ดเลือดขาวอยู่ แบ่งตัวเจริญเติบโตและเดินทางต่อไปยังต่อมน้ำ เหลือง เข้าสู่ตับและม้ามและแบ่งตัวเจริญเติบโตอีกครั้ง

เชื้อที่อยู่ในตับและม้ามนี้อาจกระจายเข้าสู่กระแสเลือด (โลหิต) และทำให้ผู้ป่วยมีอาการ ได้ ในผู้ป่วยบางคนเชื้ออาจกระจายเข้าสู่ไขสันหลังและก้านสมองได้ โดยอาจเดินทางมาตาม กระแสเลือดและเข้าสู่ไขสันหลังโดยตรง หรืออาจเดินทางมาตามกระแสเลือดเข้าสู่กล้ามเนื้อ เข้าสู่เส้นประสาทส่วนปลายในกล้ามเนื้อ แล้วจึงเดินทางไปตาเส้นประสาทเข้าสู่ไขสันหลังต่อ ไป ไม่ว่าเชื้อจะเข้าสู่ไขสันหลังและก้านสมองโดยทางไหน เชื้อโปลิโอจะเข้าไปทำลายเซลล์ประสาทสั่งการ (Motor neuron) ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อต่างๆทั้งกล้ามเนื้อเรียบ (กล้ามเนื้อของอวัยวะภายใน เป็นกล้ามเนื้อที่สามารถทำงานได้เองโดยไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การกำกับของสมองเช่น กล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อของลำไส้) และกล้ามเนื้อลาย (กล้ามเนื้อของแขน ขา) ทำให้กล้ามเนื้อต่างๆเหล่านี้เกิดอาการอ่อนแรงได้

โรคโปลิโอมีอาการอย่างไร?

โรคโปลิโอมีระยะฟักตัวของโรคคือ ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดอาการประมาณ 3 - 6 วัน ทั้งนี้แบ่งผู้ป่วยตามอาการออกเป็น 4 กลุ่มคือ

  1. ไม่ปรากฏอาการใดๆ ผู้ที่ติดเชื้อประมาณ 90 - 95% จะอยู่ในกลุ่มนี้
  2. กลุ่มมีอาการเพียงเล็กน้อย (Abortive poliomyelitis) ประมาณ 5 - 10% ของผู้ที่ติดเชื้อจะปรากฏอาการที่ไม่จำเพาะได้แก่ มีไข้ เบื่ออาหาร อาเจียน ปวดท้อง เมื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ปวดศีรษะ โดยเป็นอยู่ประมาณ 3 - 5 วันแล้วจะหายเป็นปกติ
  3. กลุ่มมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Nonparalytic poliomyelitis) พบได้เพียง 1% ของผู้ที่ติดเชื้อ โดยจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง ปวดต้นคอ คอแข็ง และอาจมีอาการปวดหลัง ในผู้ป่วยบางคนโดยเฉพาะในเด็กจะมีอาการเหมือนผู้ป่วย Abortive poliomyelitis นำมาก่อนเกิดอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะหายเป็นปกติด้วยเช่นกัน
  4. กลุ่มมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Paralytic poliomyelitis)

    ทั้งนี้กล้ามเนื้อที่เกิดอาการอ่อนแรงจะเป็นแบบข้างซ้ายและขวาไม่สมมาตรกัน โดยกล้ามเนื้อที่พบเกิดอาการบ่อยที่สุดคือ กล้ามเนื้อที่ขา แต่ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อของร่างกายส่วนไหนก็สามารถเกิดอาการขึ้นได้ทั้งนั้น เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถทำลายเซลล์ประสาทที่มีหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อเหล่านั้นได้ในหลายๆตำแหน่งเช่น

    อนึ่ง ผู้ป่วยไม่ว่าจะมีอาการอยู่ในกลุ่มไหน เมื่อหายจากโรคแล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิด ย่อย (Subtype) ที่ทำให้เกิดโรคไปตลอดชีวิต แต่ยังมีโอกาสติดเชื้อชนิดย่อยอื่นๆของเชื้อโปลิโอ ได้อีก

    พบผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้น้อยมาก โดยเริ่มต้นผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนผู้ป่วยกลุ่ม Nonparalytic poliomyelitis หลัง จากนั้นเป็นเวลาหลายวันจะเริ่มมีอาการปวดกล้ามเนื้อต่างๆทั่วร่างกายอย่างรุนแรง และตามมาด้วยอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือเกิดขึ้นแบบฉับพลันทันที ในผู้ป่วยบางรายอาการของ Nonparalytic poliomyelitis จะหายสนิทก่อนหลังจากนั้น 1 - 2 วันอาการไข้ก็จะกลับมาอีกและตามด้วยอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง

แพทย์วินิจฉัยโรคโปลิโอได้อย่างไร?

ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือ Abortive poliomyelitis ซึ่งมีอาการที่ไม่จำเพาะ ทั้งผู้ป่วยและแพทย์อาจไม่ได้นึกถึงว่าเกิดจากการติดเชื้อโปลิโอ แต่ในประเทศหรือในพื้นที่ที่มีการระบาดเกิดขึ้น อาจต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการมาช่วยในการวินิจฉัยเพราะเป็นประโยชน์ในการควบคุมโรค

ผู้ป่วยกลุ่มมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ Nonparalytic poliomyelitis อาการจะเหมือนผู้ ป่วยที่เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อโรคอื่นๆ ซึ่งแพทย์จะใช้การตรวจวินิจฉัยทางห้อง ปฏิบัติการในการหาสาเหตุของเชื้ออื่นๆก่อนนึกถึงสาเหตุจากเชื้อโปลิโอเสมอ เนื่องจากโรคอื่นมียาสำหรับรักษา แต่โรคโปลิโอไม่มียาและสามารถหายเองได้ ยกเว้นแต่ในประเทศหรือในพื้น ที่ที่มีการระบาดเกิดขึ้นเช่นกันที่ต้องใช้การตรวจหาเชื้อโปลิโอด้วย

สำหรับผู้ป่วยกลุ่มมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง Paralytic poliomyelitis แพทย์จะใช้การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการเพื่อแยกโรคอื่นๆที่อาจทำให้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ การตรวจที่จะช่วยยืนยันว่าเกิดจากเชื้อโปลิโอได้แก่ การเพาะเชื้อจากอุจจาระ จากน้ำไขสันหลัง และ/หรือจากลำคอ ร่วมกับการตรวจเลือดหาสารภูมิต้านทาน (Antibody) ที่จำเพาะต่อเชื้อโป ลิโอ หรืออาจใช้การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อด้วยเทคนิคที่เรียกว่า พีซีอาร์ (PCR, Poly merase chain reaction)

โรคโปลิโอมีผลข้างเคียงและมีความรุนแรงของโรคอย่างไร?

ผู้ป่วยกลุ่มอาการเล็กน้อย Abortive poliomyelitis และกลุ่มมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ Nonparaytic poliomyelitisอาการจะหายเป็นปกติไม่มีภาวะ แทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงเกิด ขึ้น

ผู้ป่วยกลุ่มมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง Paralytic poliomyelitis มีโอกาสเสียชีวิตได้สูงถึง 60% ถ้าเซลล์สั่งการในก้านสมองถูกทำลายและทำให้กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการหายใจและในการไหลเวียนเลือดอ่อนแรง ผู้ป่วยจะเสียชีวิต (ตาย) จากภาวะหายใจล้มเหลวและระบบไหล เวียนเลือดล้มเหลว

ในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อต่างๆจะค่อยๆฟื้นตัวภายในเวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน โดยที่ประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยอาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเล็กน้อยหลงเหลืออยู่บ้าง ผู้ป่วยที่มีอาการหลงเหลือนี้มีโอกาสเกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า “กลุ่มอาการหลังเกิดโรคโปลิโอ (Postpolio syndrome)” ได้ โดยจะเกิดขึ้นเมื่อหลายๆปีผ่านไปโดยทั่วไปประมาณ 15 - 40 ปีผ่านไป อาการของกลุ่มอาการหลังเกิดโรคโปลิโอคือ

  1. อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ส่วนใหญ่จะเกิดกับกล้ามเนื้อที่เคยอ่อนแรงมาก่อน บางครั้งอาจเกิดกับกล้ามเนื้อที่ไม่เคยอ่อนแรงมาก่อนได้ และจะเป็นแบบข้างซ้ายและขวาไม่สมมาตรกัน กล้ามเนื้อจะอ่อนแรงแบบค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดกล้ามเนื้อฝ่อลีบ และทำให้ข้อต่าง ๆเกิดการเสื่อมและบิดผิดรูป ซึ่งภาพที่เรามักจะคุ้นเคยว่าเป็นผู้ป่วยโรคโปลิโอคือ ขาฝ่อลีบ ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพกพิการผิดรูป เดินไม่ได้นั่นเอง โดยอาการต่างๆที่เกิดจากกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้แก่
  2. อาการปวดเจ็บกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อที่พบมีอาการได้บ่อยคือ กล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ ขา สะโพก และเอว แต่กล้ามเนื้อที่มักมีอาการปวดรุนแรงคือ กล้ามเนื้อบริเวณขา ข้อมือ ศีรษะ และเอว
  3. อาการอ่อนเพลียเมื่อยล้า เมื่อออกแรงใช้กล้ามเนื้อทำงานต่างๆจะเกิดอาการเมื่อยล้า รู้สึกเพลีย ซึ่งจะเป็นมากในช่วงบ่ายๆ และการนั่งพักหรือนอนพักจะช่วยลดอาการลงได้

อนึ่ง อาการต่างๆเหล่านี้จะค่อยเป็นค่อยไปและจะปรากฏอยู่ได้นานตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี ผู้ ป่วยบางคนกล้ามเนื้ออาจฟื้นตัวได้ บางคนอาจมีอาการหลงเหลืออยู่บ้าง และบางคนอาจไม่หายเลยคือมีอาการไปตลอดชีวิต

รักษาโรคโปลิโออย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาจำเพาะต่อเชื้อโปลิโอ การรักษาหลักคือ การรักษาแบบประคับ ประคองตามอาการได้แก่

  1. การให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด และหากกล้ามเนื้อแขนขาหรือลำตัวมีการอ่อนแรงจนผู้ป่วยไม่สามารถขยับได้ ก็จับพลิกตัวยกแขนขาบ่อยๆเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ การใช้เครื่องช่วยหายใจหากผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบากหรือระบบการหายใจล้มเหลว การให้สารน้ำและยากระตุ้นหลอดเลือดหากระบบการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว การใส่สายปัสสาวะหากปัสสาวะลำบาก และการให้ยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก หรือสวนทวารหนักหากอุจาระไม่ออก/ท้อง ผูกมาก เป็นต้น
  2. สำหรับผู้ป่วยกลุ่มอาการหลังเกิดโรคโปลิโอ (Postpolio syn drome) การรักษาหลักจะเน้นการกายภาพบำบัดได้แก่ การใส่อุปกรณ์ช่วยยึดลำตัว อุปกรณ์ช่วยในการเดิน อุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันข้อบิดผิดรูป อาจใช้การผ่าตัดช่วยหรือการออกกำลังกายชนิดที่เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยที่จะต้องได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเท่านั้น เพราะการออกกำลังกายที่ผิดรูปแบบหรือที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนล้าเกินไปจะส่งผลเสียมากกว่าเกิดผลดี การฝึกพูดและฝึกกลืนในผู้ป่วยที่มีปัญหา การใช้เครื่องช่วยหายใจขณะหลับหากผู้ป่วยมีปัญหาหยุดหายใจขณะหลับ รวมทั้งการดูแลทางด้านอารมณ์จิตใจร่วมด้วย
  3. มีการศึกษาพบว่ายาบางอย่างอาจช่วยลดอาการของผู้ป่วยที่เกิดกลุ่มอาการหลังเกิดโรคโปลิโอ (Postpolio syndrome) ได้เช่น ยาที่เป็นสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี้ (Antibody หรือสาร Immunoglobulin) หรือยา Pyridostigmine (ยากระตุ้นการทำงานของประสาทอัตโนมัติ) และยา Lamotrigine (ยาควบคุมการชักในโรคลมชัก) แต่ยังต้องรอการรับ รองจากสถาบันทางการแพทย์ว่ายาได้ประโยชน์จริงต่อไป

ดูแลตนเองและป้องกันโรคโปลิโออย่างไร?

การดูแลตนเองและการป้องกันโรคโปลิโอที่สำคัญคือ

  1. โรคนี้มีวัคซีนสำหรับป้องกัน วัคซีนที่ใช้อยู่ในประเทศไทยมีทั้งในรูปแบบฉีด และรูปแบบรับประทาน
    • วัคซีนรูปแบบฉีด ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนมาแล้ว หากในอนาคตเกิดได้รับเชื้อโปลิโอ เชื้อจะลงสู่ลำไส้และเจริญเติบโตได้ แต่จะไม่สามารถลุกลามจากลำไส้เข้าสู่ร่างกายจึงไม่ทำให้เกิดอาการต่างๆของโรคโปลิโอ แต่ยังสามารถขับถ่ายเชื้อที่อยู่ในลำไส้แพร่สู่ผู้อื่นได้ต่อไป จึงไม่เหมาะกับประเทศที่ยังมีการระบาดของโรคโปลิโอแต่เหมาะสำหรับประเทศที่ปลอดโรคมานาน และมีการดูแลเรื่องสุขอนามัยที่ดี
    • วัคซีนรูปแบบรับประทาน ผู้ที่เคยกินวัคซีนมาแล้ว หากในอนาคตเกิดได้รับเชื้อโปลิโอจะสามารถป้องกันไม่ให้เชื้อเจริญเติบโตในลำไส้ได้ จึงเหมาะสำหรับการป้องกันการแพร่กระจายของโรคโดยเฉพาะในประเทศที่ยังมีการระบาดของโรคหรือยังมีการรายงานว่ายังมีโรค และการดูแลเรื่องสุขอนามัยยังไม่ดี อีกทั้งวัคซีนในรูปแบบรับประทานนี้มีราคาถูกกว่าแบบฉีด และสะดวกในการให้กับเด็ก แต่ก็มีผลข้างเคียงที่น่ากลัวคือ อาจเป็นตัวทำให้เกิดโรคโปลิโอ ขึ้นมาเองก็ได้เรียกว่า “Vaccine-associated paralytic poliomyelitis (VAPP)” โดยจะทำให้เกิดอาการเหมือนผู้ป่วยกลุ่มมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง Paralytic poliomyelitis โอกาสที่วัคซีนจะทำให้เป็นโรคโปลิโอเกิดขึ้นได้ประมาณ 1 คนใน 2.5 ล้านคนที่ได้รับวัคซีน แต่ถ้าผู้ได้รับวัคซีนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องจะมีโอกาสเกิดมากกว่าคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติประมาณ 2,000 เท่า
  2. ในประเทศไทย
    • วัคซีนแบบรับประทานจะให้ทั้งหมด 5 ครั้งโดยให้เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 12 - 18 เดือน และครั้งสุดท้ายที่อายุ 4 - 6 ปี
    • ส่วนวัคซีนแบบฉีดจะให้ทั้งหมด 4 ครั้งโดยให้เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 - 12 เดือน และครั้งสุดท้ายที่อายุ 4 - 6 ปี
    • ถ้าเคยได้วัคซีนในรูปแบบรับประทานมาก่อนแล้วจะเปลี่ยนเป็นแบบฉีด ก็สามารถนับต่อไปได้เลย ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ แต่ต้องได้รับอย่างน้อยทั้งหมด 4 ครั้ง ในทางกลับกัน ถ้าเคยได้วัคซีนแบบฉีดมาก่อนแล้วจะเปลี่ยนเป็นแบบรับประทานก็ย่อมได้ ในปัจจุบันวัคซีนโปลิโอแบบฉีดมีในรูปแบบวัคซีนรวมกับวัคซีนป้องกันโรคชนิดอื่นๆด้วย
  3. ในเด็กอายุ 6 ปีจนถึง 18 ปีถ้าไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนให้ฉีดหรือรับประ ทานวัคซีนโปลิโอ 3 ครั้ง โดยครั้งที่สองให้ห่างจากครั้งแรก 1 - 2 เดือน ครั้งที่ 3 ให้ห่างจากครั้งที่สอง 6 - 12 เดือน สำหรับผู้ใหญ่ที่อายุเกิน 18 ปีอาจไม่มีความจำเป็นต้องให้วัคซีน เพราะโอกาสติดเชื้อมีน้อย ยกเว้นมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเช่น ต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้หรือประเทศที่ยังมีคนป่วยเป็นโรคโปลิโออยู่มาก ทำงานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโปลิโอ หรือเป็นงานที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคโปลิโอ หรือผู้ป่วยต่างชาติที่เดิน ทางมาจากประเทศที่ยังมีโรคโปลิโออยู่ โดยให้วัคซีน 3 ครั้งเช่นกันและไม่จำเป็นต้องให้วัคซีนกระตุ้นอีก
  4. ผู้ที่จะรับวัคซีน หากในบ้านมีคนเจ็บป่วย หรือมีบุคคลที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง หรือมีเด็กทารกที่ยังได้รับวัคซีนโปลิโอไม่ครบอยู่ ควรรับวัคซีนในรูปแบบฉีด ไม่ควรรับวัคซีนในรูปแบบรับประทาน เนื่องจากวัคซีนในรูปแบบรับประทานเป็นเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อกินเข้าไปเชื้อก็จะอยู่ในลำไส้และอาจแพร่สู่บุคคลดังกล่าวที่ไวต่อการติดเชื้อได้
  5. ถ้าได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคโปลิโอไม่ว่ามีอาการอยู่ในกลุ่มใด ถ้าแพทย์ให้กลับไปอยู่บ้านต้องระวังการแพร่เชื้อสู่บุคคลในบ้าน เพราะผู้ป่วยจะสามารถขับเชื้อออกมาทางอุจจาระได้นานถึงประมาณ 3 เดือนหลังติดเชื้อ และถ้าหากผู้ป่วยมีภาวะภูมิคุ้มกันต้าน ทานโรคบกพร่องด้วยแล้วจะสามารถแพร่เชื้อได้นานถึงประมาณ 1 ปี โดยให้ดูแลเรื่องการขับ ถ่ายให้ถูกสุขลักษณะ การล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำและก่อนหยิบจับอาหารเข้าปาก การกินอาหารปรุงสุกใหม่เสมอ การล้างผักผลไม้ให้สะอาดและปอกเปลือกผลไม้ก่อนกิน และหากบุคคลในบ้านคนใดยังไม่เคยรับวัคซีนโปลิโอ ก็ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับวัคซีนให้ครบ

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

การพบแพทย์ในเรื่องเกี่ยวกับโรคโปลิโอคือ

  1. หลังได้รับวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน หากเด็กมีอาการไข้ อาเจียน คอแข็ง ไม่ค่อยดูดนม ไม่ค่อยขยับแขนขาหายใจลำบาก หายใจมีเสียงดัง ให้รีบพบแพทย์/ไปโรง พยาบาลภายใน 24 ชั่วโมงหรือฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการและควรนำใบหลักฐานการได้รับวัคซีนไปด้วย
  2. หลังได้รับวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน หากบุคคลในบ้านมีอาการดังกล่าวแล้วในหัวข้ออาการของโรคนี้ ควรรีบนำผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเช่นกัน

บรรณานุกรม

1. Jeffrey I. Cohen, enteroviruses and reoviruses, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001 
2. http://www.vaccineinformation.org/polio/ [2015, Jan 24] 
3. http://emedicine.medscape.com/article/306920-overview [2015, Jan 24]. 
4. http://en.wikipedia.org/wiki/Poliomyelitis [2015, Jan 24] 
5. http://www.thaihealth.or.th/Content/23876-WHO%20%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%AD.html[2015, Jan 24]

www.haamor.com




Visitors: 221,631