โคโรนาไวรัส
บทนำ
โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส (Coronavirus infection) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง คือ โคโรนาไวรัส (Coronavirus) ซึ่งทำให้เกิดอาการของระบบทางเดินหายใจ หรือของกระเพาะอาหารและลำไส้ (ระบบทางเดินอาหาร) อักเสบ
เชื้อโคโรนาไวรัส ที่ทำให้เกิดโรคในคนมีอยู่ 5 สายพันธุ์ย่อย โดยเชื้อ 4 สายพันธุ์ย่อย จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเพียงเล็กน้อย และสามารถหายเป็นปกติเองได้ ส่วนอีกหนึ่งสายพันธุ์ย่อยทำให้เกิดโรคซาร์ส (SARS) ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการของระบบทางเดินหายใจที่รุน แรง มีโอกาสเสียชีวิตได้สูง และในปี พ.ศ. 2555 นี้เอง ได้ค้นพบโรคอุบัติ ใหม่จากเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ย่อยที่ 6 แต่จนถึงปัจจุบัน มีรายงานผู้ป่วยจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่เพียงแค่ 2 ราย ปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาเฉพาะสำหรับโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส และยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้
การติดเชื้อโคโรนาไวรัส สามารถพบได้ทั่วโลก และพบได้ในทุกเพศ ทุกวัยตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยความถี่ของการเกิดโรค พบมากในช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ร่วง

สำหรับโรคซาร์ส ซึ่งเกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัสชนิดหนึ่งเช่นกัน เป็นโรคอุบัติ ใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2545 ที่ประเทศจีน และได้มีการระบาดไปเกือบ 30 ประเทศทั่วโลก พบผู้ป่วยประมาณ 8,000 กว่าคน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 800 คนจนกระทั่งปลายปี พ.ศ. 2546 สา มารถควบคุมโรคซาร์สได้ในที่สุด ทำให้ในปัจจุบันยังไม่พบโรคนี้เกิดขึ้นอีกเลย
ล่าสุดในปี พ.ศ. 2555 ได้พบโรคอุบัติ ใหม่ที่เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ แต่พบผู้ป่วยเพียงแค่ 2 ราย โดยรายแรกเป็นคนของประเทศซาอุดิอาระเบีย ตรวจพบเมื่อเดือนมิถุนายน และต่อมาผู้ป่วยได้เสียชีวิตลง ส่วนอีก 1 ราย เกิดอาการป่วยเมื่อ 3 กันยายน เป็นคนของประเทศกาตาร์ที่ได้เดินทางไปยังประเทศซาอุดิอาระเบียก่อนที่จะเกิดอาการป่วย และได้ถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่ประเทศอังกฤษและเสียชีวิตในเวลาต่อมาเช่นกัน
โคโรนาไวรัสคือเชื้ออะไร?
โคโรนาไวรัส เป็นเชื้อไวรัสชนิด หนึ่งที่อยู่ในวงศ์ Coronaviridae เมื่อใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ดูลักษณะของไวรัสที่อยูในวงศ์นี้ จะพบส่วนที่มีลักษณะคล้ายไม้เทนนิสยื่นอยู่รอบ ตัวของไวรัส ดูคล้ายๆภาพรัศมีของดวงอาทิตย์ (Solar corona) จึงตั้งชื่อเรียกไวรัสในวงศ์นี้ว่า Coronaviridae นั่นเอง
เชื้อโคโรนาไวรัสได้ถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2508 เชื้อถูกแบ่งออกเป็นหลายสายพันธุ์ย่อยตามคุณสมบัติเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันพบมากกว่า 10 สายพันธุ์ย่อย บางสายพันธุ์ย่อยทำให้เกิดโรคในสัตว์ ซึ่งได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด และนก โดยเชื้อแต่ละสายพันธุ์ย่อยจะก่อให้ เกิดโรคเฉพาะกับสัตว์ที่มีความใกล้เคียงกัน ซึ่งเชื้อที่ทำให้เกิดโรคในสัตว์จะไม่ทำให้เกิดโรคในคน สัตว์แต่ละชนิดที่ติดเชื้อจะมีอาการได้หลากหลาย เช่น ในวัว ควาย จะทำให้มีอาการท้อง เสีย ในแมวอาจทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ซึ่งมีอัตราการตายสูง ในหนูจะเกิดตับอักเสบ หรือโรค Multiple sclerosis หรือย่อว่า โรค MS (โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือโรคเอมเอส ) ได้ เป็นต้น
สำหรับเชื้อโคโรนาไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในคน เรียกว่า Human coronaviruses มีอยู่ 5 สายพันธุ์ย่อย เรียงตามลำดับ การค้นพบ ได้แก่ HCoV-229E, HCoV-OC43, SARS-CoV, HCoV -NL63, และ HCoV-HKU1 และในปี พ.ศ. 2555 นี้ ได้ค้นพบเพิ่มอีก 1 สายพันธุ์ย่อย เรียกกันโดยทั่วไปว่า Novel Coronavirus แต่เนื่องจากห้องปฏิบัติการที่สามารถแยกเชื้อสายพันธุ์ใหม่นี้ได้ชื่อ Erasmus Medical Center ในประเทศเนเธอร์แลนด์ จึงได้ตั้งชื่อสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า HCoV-EMC มีข้อสันนิษฐานว่าเชื้อชนิดใหม่นี้จุดเริ่มต้นน่าจะมาจากค้างคาว แล้วจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรม ทำให้สามารถติดต่อสู่คนและทำให้เกิดโรคได้
โคโรนาไวรัสติดต่อและก่อโรคอย่างไร?
การติดต่อของเชื้อโคโรนาไวรัส เกิดจากการหายใจเอาเชื้อไวรัสนี้ ที่กระจายอยู่ในละ อองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย หรือการสัมผัสกับสิ่ง/สารคัดหลั่งเหล่านี้แล้วนำมาสัมผัสกับเยื่อบุ จมูก ตา หรือปาก ซึ่งเรียกว่าเป็น Droplets transmission หรือการอยู่อาศัยและสัม ผัสใกล้ชิด (Close person-to-person contact) ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ติดโรคได้ เช่น การกอด การจูบ การสัมผัสเนื้อตัว การทักทายโดยการจับมือ การกินอาหารโดยใช้ภาชนะร่วมกัน การดื่มน้ำจากแก้วเดียวกัน เป็นต้น
นอกจากนี้ สามารถตรวจพบเชื้อไวรัสจากอุจจาระในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการถ่ายอุจจาระเหลวได้ ดังนั้นการติดต่ออาจเกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ป่วยได้ด้วย
เมื่อร่างกายติดเชื้อโคโรนาไวรัสแล้ว เชื้อจะทำให้เกิดอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนบน (ยกเว้นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคซาร์ส และโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่) ซึ่งส่วนใหญ่คืออา การของโรคหวัดทั่วๆไป โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหวัด มีสาเหตุมาจากเชื้อโคโรนาไวรัสประมาณ 10-30 % ในผู้ป่วยบางรายเชื้ออาจทำให้เกิดอาการของกล่องเสียงและหลอดลมอัก เสบได้ หากเป็นผู้สูงอายุ เด็กทารก ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง หรือผู้ที่มีโรคเรื้อ รังของปอดและโรคหัวใจ เชื้ออาจทำให้เกิดอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนล่างได้ ได้แก่หลอดลมฝอยอักเสบ หรือปอดอักเสบได้ นอกจากนี้แล้ว เชื้ออาจทำให้เกิดกระเพาะอาหารอัก เสบ และลำไส้อักเสบร่วมด้วยได้
สำหรับเชื้อโคโรนาไวรัสที่ทำให้เกิดโรคซาร์สนั้น จะทำให้เกิดอาการของปอดอักเสบที่รุนแรง มีโอกาสเกิดภาวะหายใจล้มเหลวได้มาก ส่วนโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่นั้น ก็ทำให้เกิดปอดอักเสบเช่นกัน ความรุนแรงจะเท่าโรคซาร์ส หรือไม่นั้น ยังไม่ชัดเจน เพราะมีผู้ป่วยเพียงแค่ 2 ราย แต่เนื่องจากไม่เกิดการระบาดของโรคที่กว้างขวางแบบโรคซาร์ส แสดงว่าเชื้อสายพันธุ์ใหม่นี้ มีการติดต่อกันกันยากกว่าโรคซาร์สมาก
โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัสมีอาการอย่างไร?
ระยะฟักตัวของโรคคือตั้งแต่รับเชื้อจนกระทั่งแสดงอาการคือ ประมาณ 2-4 วัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรง ได้แก่ มีไข้ ไอ เจ็บคอ จาม คัดจมูก มีน้ำมูกไหล เชื้อบางสายพันธุ์อาจทำให้มีอาการท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเหลวร่วมด้วยได้ อาการเหล่านี้จะเป็น อยู่เพียงไม่กี่วัน และสามารถหายไปได้เองในที่สุด
ในผู้สูงอายุ เด็กทารก ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง หรือผู้ที่มีโรคเรื้อรังของปอดและโรคหัวใจ เชื้ออาจทำให้เกิดอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนล่างได้ เช่น ไข้สูง ไอมาก หายใจหอบเหนื่อย แต่มักจะไม่รุนแรงจนถึงขั้นเกิดภาวะหายใจล้มเหลว
สำหรับเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคซาร์สนั้น จะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการของปอดอักเสบที่รุนแรง อาการคือ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร แล้วตามมาด้วยอาการไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ หอบเหนื่อย หายใจลำบาก และอาจเกิดภา วะหายใจล้มเหลวจนกระทั่งเสียชีวิตได้ในที่สุด
สำหรับผู้ป่วย 2 รายที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบนั้น มีอาการของปอดอักเสบ คือ มีไข้ ไอ มีเสมหะ และหายใจหอบเหนื่อย
แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัสอย่างไร?
โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะสามารถให้การวินิจฉัยตนเองได้ว่า เป็นโรคหวัด และอาจไม่ได้ มาพบแพทย์ สำหรับผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ แพทย์ก็จะดูจากอาการของผู้ป่วยและการตรวจร่าง กาย และวินิจฉัยได้ว่าเป็นเพียงโรคหวัดเช่นเดียวกัน แต่เป็นไปไม่ได้ที่แพทย์จะบอกว่าผู้ป่วยกำ ลังติดเชื้อโคโรนาไวรัสอยู่ เนื่องจากโรคหวัดที่เกิดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ย่อยต่างๆ หรือจากเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ ก็ทำให้เกิดอาการที่แทบไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ก็ไม่มีความจำเป็นในการบอกชนิดเชื้อที่ทำให้เกิดโรคหวัดด้วย เนื่องจากการรักษาเหมือนกัน คือเพียงแค่ประคับประ คองตามอาการเท่านั้น เพราะ ยาปฏิชีวนะฆ่าได้เฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้
สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงกว่าโรคหวัด ก็มักจะมาพบแพทย์ แพทย์ก็อาศัยอาการผู้ป่วยและการตรวจร่างกาย เพื่อวินิจฉัยในเบื้องต้นว่าผู้ป่วยน่าจะมีการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง หลังจากนั้นต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อวินิจฉัยและหาสาเหตุของเชื้อโดยคร่าวๆ เนื่องจากเชื้อหลายชนิด ทั้งแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ สามารถเป็นสาเหตุของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนล่างได้ และมักจะมีอาการคล้ายคลึงกัน การตรวจต่างๆได้แก่ การตรวจเลือดดู ซีบีซี (CBC) อาจช่วยแยกระหว่างการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย การเอกซเรย์ปอด เพื่อยืนยันการวินิจฉัยว่าเป็นปอดอักเสบหรือไม่ และลักษณะของภาพจากเอกซ เรย์ปอดบางอย่าง อาจช่วยแยกชนิดของเชื้อได้ และ/หรือการนำเสมหะไปเพาะเชื้อ ซึ่งโดยปกติก็จะเพาะหาเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย
หากการตรวจต่างๆบ่งว่าผู้ป่วยน่าจะติดเชื้อไวรัสมากกว่าแบคทีเรีย แพทย์ก็จะไม่พิจาร ณาให้ยาปฏิชีวนะ (ยาปฏิชีวนะใช้รักษาเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรีย รักษาการติดเชื้อไวรัสไม่ได้ และไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้) แต่ให้การรักษาประคับประคองตามอาการ โดยในสถานการณ์ปกติ แพทย์ก็จะไม่ได้ใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการเฉพาะเพื่อแยกว่าเป็นไวรัสชนิดใด แต่ในกรณีพิเศษ เช่น กรณีการระบาดของโรคซาร์สในอดีตที่ผ่านมา หรือ กรณีที่ต้องการศึกษา วิจัยเกี่ยวกับเชื้อโคโรนาไวรัส เป็นต้น แพทย์ก็จะต้องอาศัยห้องปฏิบัติการพิเศษ เพื่อตรวจหาว่า อาการ เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัสหรือไม่ ได้แก่ การตรวจเลือดหาแอนติบอดี/สารภูมิต้าน ทาน (Antibody) ต่อเชื้อไวรัสนี้ การตรวจเลือดหรือสารคัดหลั่งเพื่อหาสารพันธุกรรมของเชื้อนี้ด้วยวิธีที่เรียกว่า PCR (Polymerase chain reaction) หรือการเพาะเชื้อไวรัสนี้จากเลือดหรือจากสารคัดหลั่ง
โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัสรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
ความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากการติดเชื้อโคโรนาไวรัส คือ
- การติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ยกเว้น สายพันธุ์ย่อยที่ทำให้เกิดโรคซาร์ส จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเพียงเล็กน้อย สามารถหายได้เองเป็นปกติ โดยไม่มีภาวะแทรก ซ้อน
- ในผู้สูงอายุ เด็กทารก ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ที่มีโรคเรื้อรังของปอดและโรคหัวใจ อาจมีอาการค่อนข้างมากได้ อันเนื่องจากเชื้อทำให้เกิดอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง แต่ก็มักไม่รุนแรงมากจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิต
- สำหรับโรคซาร์ส อาการมักจะรุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิตประมาณ 9.6% หรือประมาณ 1 ใน 10 ของผู้ป่วย ส่วนใหญ่เกิดเนื่องจากระบบหายใจเกิดภาวะล้มเหลว และผู้ป่วยที่รอดชีวิต หากทดสอบการทำงานของปอดอาจพบว่าผิดปกติได้
- สำหรับโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ยังไม่ทราบการพยากรณ์โรค/ความรุนแรงโรคที่ชัดเจนแน่นอน เพราะจำนวนผู้ป่วยน้อยเกินไป แต่ผู้ป่วยทั้ง 2 คนก็มีอาการที่รุนแรงและเสียชีวิตในที่สุด
มีแนวทางการรักษาโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัสอย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่มียาสำหรับรักษาเชื้อโคโรนาไวรัสโดยเฉพาะ การรักษาจึงทำได้เพียงแค่ประคับประคองตามอาการ และการรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอา การและสภาพร่างกายของผู้ป่วย
การรักษาประคับประคองตามอาการ ได้แก่ การให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด การให้ยาแก้ไอ ยาบรรเทาอาการเจ็บคอ ให้ยาลดน้ำมูก ผู้ป่วยควรดื่มน้ำให้มาก หากร่างกายผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำ แพทย์จะให้สารน้ำและเกลือแร่ทางหลอดเลือด การให้ออกซิเจนในผู้ป่วยที่หอบเหนื่อย และการใส่เครื่องช่วยหายใจในผู้ที่เกิดภาวะหายใจล้มเหลว เป็นต้น และในกรณีของผู้ป่วยโรคซาร์ส ไม่ว่าจะมีอาการรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ผู้ป่วยจะต้องถูกแยกตัวออกจากบุคคลอื่นเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
ดูแลตนเองและป้องกันโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัสอย่างไร?
การดูแลตนเองและการป้องกันการติดเชื้อโคโรนาไวรัส ได้แก่
- การป้องกันการติดเชื้อไวรัส รวมทั้งโคโรนาไวรัส ใช้หลักการเดียวกันกับการป้อง กันการติดเชื้อโรคต่างๆ ที่มากับระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่แออัด ผู้คนหนาแน่น อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หากจำเป็นต้องเข้าไป ควรสวมหน้ากากอนามัย ป้องกันตนเองจากการสัมผัสกับละอองน้ำมูก น้ำลาย จากผู้อื่น ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่หรือน้ำยาล้างมือโดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร หรือก่อนปรุงอาหาร รักษาสุขภาพให้แข็งแรงโดยการออกกำ ลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วน พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น ซึ่งทั้ง หมดที่กล่าวมา คือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงและไม่ได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลควรพักอยู่กับบ้านและป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนใกล้ชิด โดยการใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก (หน้ากากอนามัย) การใช้ช้อนกลางกินอาหาร แยกของใช้ส่วนตัว และควรแยกห้องนอน จนกระทั่งอาการหายสนิท
- สำหรับโรคซาร์ส องค์การอนามัยโลกได้ประกาศการสิ้นสุดของการระบาดโรคซาร์สในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2546 ไปแล้ว ดังนั้นสามารถเดินทางไปยังประเทศต่างๆที่เคยมีการระบาดของโรคได้โดยปลอดภัย
- สำหรับโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คาดว่าการแพร่กระจายของเชื้อเกิด ขึ้นได้ยากมาก ทั้งนี้เนื่องจากยังพบมีผู้ป่วยเพียงแค่ 2 คน และผู้ป่วยคนที่สองเกิดอาการป่วยหลังจากผู้ป่วยคนแรกประมาณ 3 เดือน ผู้ป่วยทั้ง 2 คนนี้จึงไม่น่าเกิดการติดต่อกันโดยตรง อีกทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยทั้ง 2 คนนี้ก็ไม่ได้เกิดอาการผิดปกติตามมาแต่อย่างใด องค์การอนามัยโลกจึงไม่ได้ประกาศห้ามการเดินทางไปยังประเทศซาอุดิอาระเบีย กา ตาร์ และประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกกลาง
- ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อโคโรนาไวรัส
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
แนวปฏิบัติในการดูแลควบคุมน้ำหนัก ตัว คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นการรักษาที่ได้ผลดี การรักษาเน้นทั้งตัวเด็กและครอบครัวร่วมกัน ในการจัดการดูแลเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และการสนับสนุนดูแลทางด้านจิตใจ ทั้งนี้ เด็กควรได้รับการดูแลและติดตามจากแพทย์ทางด้านโภชนาการตามกำหนดที่แพทย์นัดเสมอ
บรรณานุกรม
- http://www.cdc.gov/coronavirus/about/index.html [2012,Nov13].
- http://virology-online.com/viruses/CORZA4.htm [2012,Nov13].
- http://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa1211721#t=article [2012,Nov13].