ไวรัสตับอักเสบ

Vial Hepatitis A Bureau of Epidemiology, DDC, MPH  
ICD-10 : B15 (Infectious hepatitis, Epidemic hepatitis, Epidemic jaundice, Catarrhal jaundice, Type A hepatitis, HA)
ลักษณะโรค
ในผู้ใหญ่อาการเริ่มต้นส่วนมากจะมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ แน่นท้อง ตามด้วยตัวเหลือง ตาเหลือง ภายใน 2-3 วัน ซึ่งแตกต่างกันตั้งแต่มีอาการเพียงเล็กน้อยและหายไปใน 1-2 สัปดาห์ จนถึงในรายที่มีอาการรุนแรง และใช้เวลารักษานานหลายเดือน ซึ่งก็พบได้เล็กน้อย ระยะพักฟื้นส่วนใหญ่มักใช้เวลาค่อนข้างนาน โดยทั่ว ๆ ไป ความรุนแรงมักจะเพิ่มขึ้นตามอายุ แต่ก็มักจะหายอย่างสมบูรณ์โดยไม่มีโรคแทรกซ้อนเหลืออยู่ และจะไม่มีอาการกลับเป็นใหม่ ในเด็กการติดเชื้อนี้มักจะไม่ปรากฏอาการ มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากมีอาการเล็กน้อย โดยไม่มีอาการเหลือง แต่สามารถวินิจฉัยได้โดยการทดสอบการทำงานของตับ อัตราป่วยตายร้อยละ 0.1 -0.3 ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี พบอัตราป่วยตายร้อยละ 1.8
การวินิจฉัยโรค
โดยตรวจพบภูมิคุ้มกันชนิด IgM ต่อไวรัสตับอักเสบ เอ (IgM anti HAV) ในน้ำเหลืองที่เก็บทันทีหรือขณะป่วย สามารถตรวจพบได้ใน 5-10 วันหลังติดเชื้อ และพบจนถึง 6 เดือนหลังเริ่มป่วย ร่วมกับการตรวจพบภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้น 4 เท่าหรือมากกว่าในน้ำเหลืองที่เจาะ 2 ครั้ง โดยวิธี RIA หรือ ELISA หรืออาจใช้หลักฐานทางระบาดวิทยาช่วยในการวินิจฉัยโรคสำหรับ IgG anti-HAV ก็จะตรวจพบในช่วงต้นของการติดเชื้อและคงอยู่ตลอดไปซึ่งจะป้องกันโรคได้ตลอด ชีวิต
สาเหตุ
ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ (HAV) เป็น RNA virus เป็นสมาชิกตระกูล picornaviridae
วิธีติดต่อ
จากคนสู่คนโดยเชื้อเข้าสู่ปาก เชื้อจะอยู่ในอุจจาระของผู้ป่วยซึ่งพบระดับสูงสุดในสัปดาห์แรกหรือสอง สัปดาห์ก่อนเริ่มแสดงอาการ และลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากตับเริ่มแสดงการทำงานลดลงหรือเริ่มแสดงอาการ พร้อมกับพบภูมิคุ้มกันในกระแสโลหิต การระบาดของโรคนี้มักจะเกิดจากแหล่งโรคร่วมโดยสัมพันธ์กับการปนเปื้อนเชื้อ ในน้ำและอาหารที่ปนเปื้อนจากผู้เตรียมอาหารที่เป็นพาหะของโรค รวมทั้งรับประทานอาหารที่ไม่ได้ทำให้สุกหรือมีการจับต้องอาหารภายหลังปรุง สุก รวมทั้งนม สลัด หอยปรุงไม่สุก ที่เก็บจากน้ำบริเวณที่ปนเปื้อนเชื้อ เคยมีรายงานการติดต่อของโรคนี้โดยการได้รับเลือดจากผู้ให้เลือดที่กำลังอยู่ ในระยะฟักตัวของโรค แต่พบไม่บ่อย
ระยะฟักตัว
15-50 วัน โดยเฉลี่ยประมาณ 28-30 วัน
ระยะติดต่อ
จากการศึกษาการติดต่อในคน และหลักฐานทางระบาดวิทยาชี้ชัดว่า ระยะเวลาที่จะเกิดการติดเชื้อได้สูงสุดอยู่ในช่วงครึ่งหลังของระยะฟักตัว จนถึงประมาณ 2-3 วัน หลังจากเริ่มมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง (หรือในช่วงของจุดสูงสุดของ aminotransferase enzyme ในผู้ป่วยที่ไม่มีตัวเหลือง ตาเหลือง) ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหมดระยะติดต่อของโรคหลังจากมีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองไปแล้ว 1 สัปดาห์
อาการและอาการแสดง
ผู้ป่วยมักมีอาการไม่สบายเล็กน้อยนำมา ก่อน 1 อาทิตย์ เช่น เบื่ออาหาร ไข้ ปวดเมื่อย คลื่นไส้ อาเจียน ต่อมามีปัสสาวะสีเข้ม ตัวเหลือง ตาเหลือง จุกแน่นบริเวณใต้ชายโครงขวา มีผื่นที่ผิวหนัง และไม่มีประวัติได้รับยา หรือสารพิษที่เป็นสาเหตุของตับอักเสบเฉียบพลัน อาการต่างๆจะทุเลาและหายไป 3-4 สัปดาห์ ในเด็กเล็กมีอาการเล็กน้อย บางรายมีอาการเพียงไม่กี่วัน แต่ถ้าเป็นในเด็กโต หรือ ผู้ใหญ่จะมีอาการเป็นสัปดาห์ โดยเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค เมื่อผู้ป่วยหายจากโรคจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต อาการแทรกซ้อนของโรคที่พบได้แก่ ตับวายเฉียบพลัน ตัวเหลืองยาวนานจากการคั่งน้ำดีในตับ
ระบาดวิทยาของโรค
เกิดได้ทั่วโลก มีทั้งเกิดประปรายและเกิดการระบาดในกลุ่มคนที่อยู่รวมกันเช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงงาน และมักเกิดซ้ำซากในประเทศกำลังพัฒนา ในพื้นที่การสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมไม่ดีจะพบการติดเชื้อในกลุ่มอายุยังน้อย ในผู้ใหญ่โดยทั่วไปจะมีภูมิคุ้มกันโรคจึงไม่ค่อยพบการระบาดของโรคนี้ใน ผู้ใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามในพื้นที่การสุขาภิบาลดี มักพบว่ากลุ่มเด็กวัยรุ่นมีความไวรับต่อโรคและมักจะมีการระบาดเกิดขึ้นได้ บ่อยครั้ง ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การถ่ายทอดโรคมักจะเกิดกับคนในครอบครัวเดียวกัน การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยในระยะที่ป่วยเฉียบพลัน บางครั้งพบผู้ป่วยประปรายในศูนย์เลี้ยงเด็ก ในกลุ่มผู้เดินทางไปประเทศที่ยังคงมีความชุกของโรคนี้อยู่ ในกลุ่มผู้ฉีดยาเสพติด ในกลุ่มรักร่วมเพศ
ในประเทศที่พัฒนาแล้วหากมีการระบาดเกิดขึ้นก็มักจะเกิดขึ้นอย่าง ช้าๆแต่กระจายเป็นวงกว้างและนานเป็นเดือนๆ แต่หากเกิดจากแหล่งโรคร่วม ก็จะระบาดอย่างรวดเร็ว ในการระบาดบางครั้งพบว่าเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเด็กในสถานเลี้ยงเด็ก ผู้ชายรักร่วมเพศที่มีเพศสัมพันธ์สำส่อน ผู้ฉีดยาเสพติด อาจเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคนี้มากกว่ากลุ่มคนทั่วๆไป ประมาณว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ป่วยไม่ทราบแหล่งโรค และโรคนี้มักเป็นในกลุ่มเด็กนักเรียน และกลุ่มวัยรุ่น
การรักษา
ผู้ป่วยตับอักเสบเอ มีอาการเล็กน้อยและหายได้เอง การรักษาเป็นเพียงประคับประคองป้องกันการขาดน้ำ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะเลือดออก และตับวาย
วิธีควบคุมและป้องกันโรค
มาตรการป้องกันโรคตับอักเสบ
  1. ให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับสุขาภิบาลและสุขนิสัยส่วนบุคคลที่ดี โดยเน้นการล้างมือ การกำจัดอุจจาระตามหลักสุขาภิบาล
  2. จัดให้มีระบบน้ำดื่ม น้ำใช้ที่สะอาดทั่วถึงและมีระบบการกำจัดสิ่งปฏิกูล
  3. ในสถานรับเลี้ยงเด็ก ควรมีมาตรการเข้มงวดเพื่อลดโอกาสการติดต่อทางอุจจาระสู่ปาก โดยเน้นให้ล้างมือทุกครั้งหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมและก่อนรับประทานอาหาร ถ้ามีผู้ป่วยในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือมีผู้ป่วยในครอบครัวของผู้ดูแลเด็กควรฉีด Immunoglobulin ให้กับผู้ดูแลเด็กและพิจารณาฉีดให้คนในครอบครัวของผู้ดูแลเด็กด้วย
  4. จัดทำโครงการให้สุขศึกษา โดยเน้นหนักในเรื่องการกำจัดอุจจาระให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล และการล้างมือหลังจากใช้ส้วมและก่อนกินอาหาร มาตรการพื้นฐานของการป้องกันการแพร่เชื้อจากอุจจาระ-สู่-ปาก
  5. หอยนางรม หอยกาบและสัตว์น้ำจำพวกมีเปลือก ที่เก็บจากบริเวณที่มีเชื้อไวรัสนี้ ก่อนรับประทานควรทำให้สุกด้วยความร้อน ระดับ 85-90o c (185-194oF ) นาน 4 นาทีหรือนึ่งภายใต้ความดัน 90 วินาที
  6. การป้องกันโรคตับอักเสบ เอ ใช้วัคซีนเชื้อที่ตายแล้วโดยเตรียมมาจากการใช้เชื้อไวรัสจากการเพาะเชื้อใน เนื้อเยื่อมาให้บริสุทธิ์ และทำลายฤทธ์ด้วยฟอร์มาลิน สามารถกระตุ้นให้ร่ายกายสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรคได้อย่างดี โดยให้วัคซีน 2 ครั้งห่างกัน 6 เดือน ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น สามารถป้องกันได้ นานมากกว่า 10 ปีให้วัคซีนในเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป (preexpsure immunization) ในกรณีเด็กต่ำกว่า 2 ปี ไม่ให้เพราะจะไปขัดขวางภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากแม่
  7. ให้วัคซีน Hepatitis A เพื่อป้องกันในกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งเด็กที่อยู่ในพื้นที่ที่ยังคงมีความชุกของโรค ให้ Immunoglobulin (IG) ในผู้สัมผัสใกล้ชิด (ผู้สัมผัสร่วมบ้าน คู่นอน) ภายใน 2 สัปดาห์ (postexposure prophylaxis) ทั้งนี้อาจให้วัคซีน Hepatitis A พร้อมกันไป โดยแยกฉีดที่แขนคนละข้าง
  8. ผู้ที่จะเดินทางไปในพื้นที่ที่มีความชุก ควรฉีด Immunoglobulin (IG) หรือวัคซีน Hepatitis A ก่อนเดินทาง ซึ่งจะให้ผลในการป้องกันได้ 4 สัปดาห์หลังฉีด หากต้องอยู่นานต้องฉีดซ้ำทุก 4-6 เดือน
การควบคุมผู้ป่วย ผู้สัมผัส และสิ่งแวดล้อม
การรายงาน: ตามระบบเฝ้าระวังโรคสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข
การแยกผู้ป่วย: ระหว่างรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ควรแยกผู้ป่วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ 2 สัปดาห์แรกของการป่วย แต่ไม่เกิน 1 สัปดาห์ หลังจากปรากฏอาการตัวเหลือง ตาเหลือง
การทำลายเชื้อ: - มีการกำจัดอุจจาระ ปัสสาวะ และเลือดอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ซึ่งเชื้อ HAV
  • ถูกทำลายโดยความร้อนที่ 85o c นาน 1 นาที
  • ใช้ autoclave (121o c นาน 20 นาที)
  • มีแสง Ultraviolet (1.1W ที่ความลึก 0.9 ซ.ม นาน 1 นาที)
  • Formalin (ร้อยละ 8 นาน1 นาทีที่ 25o c)
  • Potassium permanganate (30 mg/ลิตร นาน 5 นาที)
  • Iodine (3 mg/ลิตร นาน 5 นาที)
  • chlorine (free residual chlorine 2-2.5 mg/ลิตรนาน 15 นาที)
  • สัตว์น้ำจำพวกมีเปลือกเช่น หอย กุ้ง ปู ที่มาจากทะเลที่มีการปนเปื้อนเชื้อนี้ควรทำให้สุกอย่างน้อยที่อุณหภูมิ 90oc นาน 4 นาที หรือใช้อบภายใต้ความดัน นาน 90 นาที
  • เชื้อนี้จะอยู่ได้หลายปีภายใต้อุณหภูมิ -20o c
  • แยกผู้ต้องสงสัย: ไม่จำเป็น
    การให้ภูมิคุ้มกันแก่ผู้สัมผัส: การให้ภูมิคุ้มกันชนิด passive ด้วย Immunoglobulin (IG) ในขนาด 0.02 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ควรให้โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อเร็วที่สุดภายหลังสัมผัสโรค แต่ต้องไม่เกิน 2 สัปดาห์ โดยให้แก่ทุกคนในครอบครัวที่มีประวัติสัมผัสผู้ป่วย ผู้ที่ได้รับวัคซีน 1 ครั้งก่อนสัมผัส 1 เดือนไม่ต้องให้ IG
    การสอบสวนผู้สัมผัส: ค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ และดำเนินการเฝ้าระวังโรคของผู้สัมผัสโรคในบ้านผู้ป่วย หรือในการระบาดควรมีการสอบสวนโรคในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการสัมผัสโรค ควรให้ IG ในผู้สัมผัสใกล้ชิดในครอบครัว ในสถานเลี้ยงเด็ก ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วย ผู้ที่ฉีดยาเสพติด
    มาตรการในขณะระบาด:
    ดำเนินการสอบสวนทางระบาดวิทยา เพื่อหาวิธีติดต่อไม่ว่าจากคนสู่คน หรือจากพาหะนำโรคที่พบบ่อย และเพื่อหากลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ กำจัดแหล่งแพร่เชื้อที่พบบ่อยทุกแห่ง ถ้าเกิดการระบาดหรือพบเชื้อตับอักเสบจากไวรัส เอ ในผู้ประกอบอาหาร ควรให้ immunoglobulin (IG) กับผู้ประกอบอาหารคนอื่นที่อยู่ในสถานที่เดียวกัน โดยปกติจะไม่ให้ IG แก่ลูกค้าผู้บริโภค การให้วัคซีนป้องกันตับอักเสบ เอ ในขณะระบาด มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้แก่ การจัดกลุ่มเป้าหมายที่จะให้วัคซีน การให้วัคซีนในช่วงต้นของการระบาด ระดับความครอบคลุมของการให้วัคซีนที่ให้ครั้งแรก มาตรการควบคุมเฉพาะในขณะระบาดควรดูตามลักษณะทางระบาดวิทยาของโรคและตาม โครงการให้วัคซีนป้องกันรวมทั้ง
    • ควรเร่งให้วัคซีนป้องกันในเด็กโตที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน
    • การให้วัคซีนป้องกันเมื่อเกิดการระบาดในสถานเลี้ยงเด็กโรงพยาบาล สถาบัน โรงเรียน
    • ให้วัคซีนในกลุ่มเป้าหมาย (ตามกลุ่มอายุ กลุ่มเสี่ยง) ที่มีอัตราป่วยสูงสุดโดยขึ้นอยู่กับการเฝ้าระวังในพื้นที่และข้อมูลทางระบาด วิทยาเพื่อมุ่งลดอุบัติการณ์ของโรคลง และควรให้ immunoglobulin (IG) ด้วย เพื่อควบคุมการระบาด จึงควรพิจารณาให้วัคซีนไปพร้อมกัน ปรับปรุงด้านสุขาภิบาลและพฤติกรรมอนามัยเป็นพิเศษเพื่อลดการปนเปื้อนอุจจาระ ในอาหารและน้ำ
    • เมื่อมีผู้ป่วยมากกว่า 2 รายขึ้นไปที่มีความสัมพันธ์ทางระบาดวิทยา ต้องหาผู้ป่วยเพิ่มเติม เน้นในเรื่องวิธีทำให้ปราศจากเชื้อ ถ้ามีสิ่งที่ได้มาจากน้ำเลือด เช่น antihemophilic factor, fibrinogen pooled plasma หรือ thrombin ถูกนำมาใช้ ต้องตรวจสอบผู้ที่ได้รับในชุดเดียวกันทุกคน เพื่อค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม
    โอกาสที่เกิดการระบาดใหญ่:
    1. ในกลุ่มคนที่อยู่รวมกันอย่างหนาแน่น การสุขาภิบาลและแหล่งน้ำไม่เพียงพอ ถ้ามีผู้ป่วยเกิดขึ้น ควรต้องเพิ่มความพยายามในการปรับปรุงการสุขาภิบาลและเพิ่มแหล่งน้ำดื่มที่ สะอาด การให้ immunoglobulin กับทุกคน ไม่ใช่สิ่งทดแทนในการควบคุมสิ่งแวดล้อมได้
    2. การไม่เข้มงวดในกรรมวิธีการทำให้ปราศจากเชื้อและการใช้เลือดที่ไม่ได้ตรวจสอบมาก่อน อย่างฉุกเฉิน อาจทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น


    Cr : Bureau of Epidemiology, Department of Disease Control, MoPH, Thailand
    Visitors: 221,632