โรคไข้หวัดนก Avian influenza

โรคไข้หวัดนก

การระบาดของโรคไข้หวัดนกเกิดขึ้นได้อย่างไร

      โรคไข้หวัดนก เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ สัตว์ปีกทุกชนิดติดเชื้อนี้ได้  ไก่ป่วยรุนแรงและตาย ส่วนนกน้ำ นกชายทะเล และนกป่า มักไม่ป่วย แต่จะมีเชื้อออกมากับมูลทำให้โรคแพร่มายังไก่ เป็ด ที่เลี้ยงในฟาร์ม รวมทั้งนกในธรรมชาติ

คนติดโรคไข้หวัดนกได้อย่างไร

      - ผู้ป่วยส่วนใหญ่ติดโรคจากการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายด้วยโรคไข้หวัดนก โดยเชื้อไวรัสในน้ำมูกน้ำลาย และมูล อาจติดมากับมือและเข้าสู่ร่างกายคนทางเยื่อบุจมูกและตา ผู้ป่วยบางรายติดเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม
      - ไม่พบการติดเชื้อจากการรับประทานเนื้อสัตว์ปีก หรือไข่ที่ปรุงสุก
      - ไม่พบการติดต่อจากคนถึงคน

ผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกมีอาการอย่างไร

      หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 3 – 7 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้สูงปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอ อาจมีน้ำมูกน้ำตาไหล เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว มักมีอาการรุนแรงทำให้เกิดปอดอักเสบ ซึ่งสังเกตได้จาก อาการหอบหรือหายใจลำบาก ภาวะหายใจล้มเหลวซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 70

ควรดูแลผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกอย่างไร

      หากมีผู้ป่วยมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีโรคไข้หวัดนกระบาดอยู่ ต้องรีบพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที เพราะต้องได้รับยาต้านไวรัสภายใน 48 ชั่วโมง และอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ผลการรักษาจึงจะดี

จะดูแลป้องกันไม่ให้เด็กติดโรคไข้หวัดนกได้อย่างไร
   
      - เด็กมักมีนิสัยชอบเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งไก่และนก  และหากติดเชื้อไข้หวัดนกมักป่วยรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ ดังนั้นในช่วงที่มีโรคไข้หวัดนกระบาดในสัตว์ปีก หรือมีไก่ เป็ด ตายมากผิดปกติ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องระมัดระวังดูแล ไม่ให้เด็กไปจับต้องสัตว์ปีก โดยเฉพาะสัตว์ป่วยและซากสัตว์
      - ควรฝึกให้เด็กล้างมือจนเป็นนิสัย เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้นำเชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายได้เป็นอย่างดี ควรสอนให้เด็กล้างมือทุกครั้งหลังขับถ่าย สั่งน้ำมูก หรือจับต้องสัตว์เลี้ยงทุกชนิด  และล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
      - ให้เด็กรับประทานเนื้อสัตว์ปีกและไข่ที่ปรุงสุกดีแล้วเท่านั้นเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อรวมทั้งโรคไข้หวัดนก



จะป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อไข้หวัดนกได้อย่างไร

ผู้ทำหน้าที่ทำลายสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ

      - สวมชุดป้องกันหรือเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมหน้ากากอนามัยปิดปากจมูก แว่นครอบตาและรองเท้าบู๊ต
      - เมื่อปฏิบัติงานเสร็จต้องรีบล้างมือและอาบน้ำชำระร่างกายด้วยน้ำและสบู่ทันที ส่วนเสื้อผ้าและอุปกรณ์ป้องกัน ต้องนำไปฆ่าเชื้อและทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น น้ำยาฟอกขาวหรืออาจใช้น้ำผงซักฟอก และผึ่งกลางแดดจัด ๆ ให้แห้ง

ผู้ประกอบอาหาร

      - ไม่นำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายมาชำแหละเป็นอาหาร
      - เลือกซื้อเนื้อไก่ เป็ด และไข่ จากแหล่งที่มีการรับรองมาตรฐานหรือจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ไก่ที่ดูสดใหม่ ไม่มีจ้ำเลือดออก ส่วนไข่ต้องดูสดใหม่ ไม่มีมูลติดที่เปลือก
      - แยกเขียงสำหรับหั่นเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกแล้วรวมทั้งผักผลไม้ ไว้โดยเฉพาะ ไม่ใช้เขียงเดียวกันกับเขียงหั่นเนื้อดิบ
      - ระหว่างปรุงอาหาร ไม่ใช้มือจับต้องจมูก ตา ปาก และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ

หากพบสัตว์ปีกตายผิดปกติจะทำอย่างไร

      - โดยปกติ ไก่ เป็ด นก อาจตายจากสาเหตุหลายประการ ทั้งจากสภาวะแวดล้อมและโรคระบาด หลายโรค รวมทั้งโรคไข้หวัดนก หรืออาจถูกวางยาเบื่อ หากสัตว์ปีกเป็นโรคไข้หวัดนกมักมีอาการหงอย ซึม ขนยุ่ง หน้าหงอน เหนียงบวม สีคล้ำ มีจุดเลือดออกตามหน้าแข้ง เครื่องใน
      - มีผู้พบเห็นสามารถโทรศัพท์ปรึกษาสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหรืออำเภอ เทศบาล ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล และสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง

      กรณีต้องการเก็บซากเพื่อทำลายหรือส่งตรวจชันสูตรหาสาเหตุการตายต้องไม่จับซากสัตว์ด้วยมือเปล่า ควรสวมถุงมือยางหรือถุงพลาสติกหนา ๆ ใส่ซากสัตว์ในถุงพลาสติก รัดปากถุงให้แน่น นำส่งตรวจที่สำนักงานปศุสัตว์  ถ้าจะฝังซากต้องให้ห่างจากแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างน้อย 30 เมตรและฝังให้ลึกอย่างน้อยหนึ่งเมตร โรยปูนขาวหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือราดน้ำเดือดที่ซากแล้วกลบดินทับให้แน่นหากใช้วิธีเผาก็สามารถฆ่าเชื้อได้เช่นเดียวกัน

ประชาชนจะช่วยป้องกันควบคุมไข้หวัดนกให้สงบโดยเร็วได้อย่างไร

      - เกษตรกรที่เลี้ยงไก่เป็ดต้องป้องกันไม่ให้นกแมลงและสัตว์พาหะนำโรคอื่น ๆ เข้ามาในฟาร์มและต้องรักษาความสะอาดและสุขาภิบาลอย่างเข้มงวด ควรใช้น้ำยาฆ่าเชื้อตามยานพาหนะที่ขนย้ายสัตว์ รวมทั้งอุปกรณ์ทุกชิ้น
      - คนที่ผ่านเข้าออกฟาร์ม ต้องล้างเท้าด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ช่วงเกิดการระบาดต้องไม่นำวัสดุอุปกรณ์ เช่น ถาดไข่  วัสดุรองพื้นจากพื้นที่ระบาดมาใช้
      - ต้องปฏิบัติตามวิธีการควบคุมการระบาดของกรมปศุสัตว์โดยเคร่งครัดโดยเฉพาะต้องไม่นำสัตว์ออกจากพื้นที่ระบาดในรัศมีควบคุมและต้องไม่นำไก่ เป็ดที่ตาย และไข่ ออกจำหน่ายในท้องตลาดหรือนำไปเลี้ยงสัตว์อย่างเด็ดขาด
      - ประชาชนที่เลี้ยงไก่เป็ดในหมู่บ้านควรหาวิธีป้องกันไม่ให้นก มาปะปนเช่นการกั้นรั้วและใช้ตาข่ายหากทำได้ควรงดเลี้ยงสัตว์ปีกจนกว่าโรคไข้หวัดนกควบคุมได้แล้ว


ตอบข้อสงสัยเรื่อง “โรคไข้หวัดนก”

1. เนื้อไก่และไข่ที่ขายอยู่ตามท้องตลาดปลอดภัยเพียงใด

ตอบ : ควรเลือกซื้อเนื้อไก่สดที่ไม่มีเนื้อสีคล้ำหรือมีจุดเลือดออก หรือจุดเนื้อตายสีขาวที่เครื่องใน สำหรับไข่ควรเลือกฟองที่ดูสดใหม่และไม่มีมูลไก่ติดเปื้อนที่เปลือกไข่ และก่อนปรุงควรล้างให้สะอาดหรือเลือกซื้อจากร้านที่มีใบรับรองจากกรมปศุสัตว์

2. เมื่อจับต้องเนื้อไก่หรือไข่จะทำอย่างไรให้ปลอดภัย

ตอบ : เมื่องต้องจับเนื้อสัตว์ เครื่องใน และเปลือกไข่ ควรสวมถุงมือหรือถุงพลาสติก ไม่ใช้มือเปื้อนมาจับต้องอาหาร จมูก ตา และปาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หลังจากนั้นรีบล้างมือให้สะอาด

3. เมื่อเตรียมอาหารที่มีเนื้อไก่ ต้องทำอย่างไร

ตอบ : ควรแยกเขียงและมีดสำหรับหั่นเนื้อไก่ และเขียงสำหรับหั่นอาหารปรุงสุกแล้ว หรือผักผลไม้ เมื่อหั่นอาหารเสร็จแล้ว ควรล้างมือรวมทั้งภาชนะและอุปกรณ์ที่ใช้ให้สะอาด

4. ดูแลบ้านเรือนอย่างไรให้ปลอดภัยจากไข้หวัดนก

ตอบ : ควรทำความสะอาดบ้าน กำจัดเศษอาหาร มูลสัตว์ต่าง ๆ และป้องกันสัตว์ที่จะเป็นพาหะนำโรค เช่น นก ไม่ให้เข้าบ้าน สำหรับผู้ที่เลี้ยงไก่ตามบ้านไม่ควรเลี้ยงใต้ถุนบ้าน ให้แยกพื้นที่เลี้ยงเป็นสัดส่วน เช่น มีรั้วหรือตาข่ายกั้นจากที่อยู่อาศัย

5. หากสัมผัสไก่หรือนก จะทำอย่างไร

ตอบ : ต้องล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งหลังจับต้องสัตว์

6. ไก่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดนกมีอาการอย่างไร

ตอบ : ไก่ที่ป่วยจะมีอาการหงอย ซึม ขนยุ่ง หงอนเหนียงบวม มีสีคล้ำ มีจุดเลือดออกที่หน้าแข้ง มีน้ำมูกหรือขี้ไหล ไข่ลดลง ในเป็ดห่านจะทนโรคมากกว่าไก่ บางครั้งจะแสดงอาการป่วยไม่ชัดเจน ไก่ชนก็มีความทนทานต่อโรคเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงห้ามดูดเสมหะให้ไก่ชนอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นการเสี่ยงต่อการติดโรคอย่างยิ่ง

7. ประชาชนจะป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดนกได้อย่างไร

ตอบ : ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด และครบทั้ง 5 หมู่ งดสูบบุหรี่และดื่มสุรา นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรักษาความสะอาดของบ้านเรือน หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก โดยเฉพาะที่มีอาการป่วยหรือตาย

      หากจำเป็นต้องสัมผัสให้สวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ และล้างมือทุกครั้งด้วยน้ำสบู่ให้สะอาด หากมีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่นเจ็บคอ ไอ ต้องรีบพบแพทย์ทันที และแจ้งด้วยว่าสัมผัสสัตว์ปีกมา

8. ผู้ใดบ้างเสี่ยงต่อการติดโรค

ตอบ : ผู้เลี้ยง ผู้เชือดหรือชำแหละ ผู้ขนส่ง-ขนย้าย ผู้ขายไก่เป็น ผู้ทำลายซากสัตว์ หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาด

9. ผู้ที่น่าสงสัยว่าเป็นไข้หวัดนก มีอาการอย่างไร

ตอบ : มีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ และคัดจมูกหรือตาแดง พร้อมทั้งมีประวัติคลุกคลีใกล้ชิดกับสัตว์ปีก ภายใน 7 วัน หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีสัตว์ปีกตายมากผิดปกติหรือมีการระบาดของไข้หวัดนก

10. จะทำอย่างไรกับเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่อาจปนเปื้อนเชื้อไข้หวัดนก

ตอบ : แช่เสื้อผ้าทุกชิ้นด้วยน้ำยาฟอกขาว (ไฮเตอร์ 1 ส่วน น้ำ 9 ส่วน) นาน 30 นาที แล้วทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกอีกครั้ง จากนั้นตากแดดให้แห้ง

 

 

Cr.โรงพยาบาลแมคคอร์มิค

Visitors: 217,366